เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2565 ได้มีการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ครั้งที่ 5/2565 ณ กระทรวงพลังงาน เพื่อสรุปผลการติดตามความก้าวหน้าประเด็นปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน (Big Rock) โดยมีนายพรชัย รุจิประภา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน เป็นประธาน ทั้งนี้ ความก้าวหน้าการดำเนินงาน Big rock ทั้ง 5 ด้าน สรุปรายละเอียดได้ดังนี้

     1. ศูนย์อนุมัติอนุญาตเบ็ดเสร็จ (One stop service) ด้านกิจการไฟฟ้าที่แท้จริง สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้มีการทบทวน Licensing Scheme และกระบวนการอนุญาตสำหรับการประกอบกิจการพลังงานผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล โดยมีการพิจารณาร่างกฎหมายลำดับรองว่าด้วยการกำหนดประเภทอนุญาตและปรับปรุงกระบวนการอนุญาตใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย พร้อมทั้งมีการเตรียมการเพื่อลงนาม MOU ร่วมกันกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงอุตสาหกรรม อันจะช่วยให้การลดขั้นตอนอนุมัติ อนุญาตของกิจการไฟฟ้ามีประสิทธิภาพและสมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป

     2. การพัฒนาศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ (National Energy Information Center : NEIC) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานได้เผยแพร่ข้อมูลด้านพลังงานผ่านเว็บไซค์ โดยมีการทบทวนข้อกฎหมายและจัดทำ MOU กับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เกิดการบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูล อันจะช่วยให้การเผยแพร่ข้อมูลด้านพลังงานเป็นไปอย่างโปร่งใส ลดความขัดแย้ง และช่วยเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านพลังงานให้กับประชาชนในระยะยาว

     3. การใช้มาตรการบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) สำหรับหน่วยงานภาครัฐ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานร่วมกับ กฟผ. และ กฟน. จัดทำแนวทางโครงการนำร่องแล้วเสร็จ โดย จะมีการหารือร่วมกับสำนักงบประมาณเพื่อจัดทำข้อสรุปแนวทางการตั้งงบประมาณโดยใช้หลักการคิดค่าบริการคิด Unit cost และหารือกับสำนักงานอัยการสูงสุดในการพิจารณาร่างสัญญา ESCO ต่อไป

     4. การพัฒนาปิโตรเคมีระยะที่ 4 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ได้เผยแพร่ผลการศึกษาเพื่อประโยชน์ในการกำหนดมาตรการส่งเสริมสำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปพลาสติกและเคมีภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น อันจะช่วยสนับสนุนนโยบายอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve) ของประเทศ นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และผู้ประกอบการ จัดทำ (ร่าง) แนวทางมาตรการเพื่อส่งเสริมการลงทุนปิโตรเคมีระยะที่ 4 ในพื้นที่ภาคตะวันออก อันจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการไทยในอนาคต

     5. การปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าและธุรกิจก๊าซธรรมชาติเพื่อเพิ่มการแข่งขัน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานและสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน ได้ดำเนินการสำเร็จในหลายๆด้าน ได้แก่ การจัดทำแผน PDP 2022 การประกาศระเบียบและกฎเกณฑ์สำหรับการใช้หรือเชื่อมต่อสำหรับบุคคลที่สาม การปรับปรุงโครงสร้างอัตราไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติให้สะท้อนต้นทุน การมีแผนบูรณาการการลงทุนและการดำเนินงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า และการจัดหาก๊าซธรรมชาติให้มีความต่อเนื่องและไม่ให้เกิดการหยุดชะงัก เป็นต้น

     ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้เร่งรัดสรุปผลงานจากการดำเนินงานตามแผนงานปฏิรูปประเทศด้านพลังงานในช่วงปี 2561-2565 พร้อมทั้งสรุปบทเรียน ปัญหาอุปสรรค และให้ข้อเสนอแนะเพื่อประโยชน์ต่อการปฏิรูปพลังงานในระยะต่อไป และเพื่อให้นักวิชาการ ประชาชน และผู้สนใจได้รับทราบ โดยกระทรวงพลังงงานจะประสานเพื่อนำข้อมูลมาเสนอให้กับผู้สนใจต่อไปด้วยอีกทางหนึ่ง